มกราคม 16, 2023
ตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก สำคัญแค่ไหน
มะเร็งปากมดลูก เป็นอีกหนึ่งมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม และถือว่าเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพผู้หญิง โดยพบว่าในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน เพราะฉะนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะช่วยหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มแรก เพื่อหาทางป้องกันและดูแลรักษาที่เหมาะสม
พญ.ชลิดา เรารุ่งโรจน์ สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า มะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูง โดยสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งการติดเชื้อไวรัส HPV เกือบทั้งหมดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นโอกาสการติดเชื้อก็มาจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นต้น โดยอาการในระยะเริ่มแรกของมะเร็งปากมดลูก คือ เริ่มจากไม่มีอาการแต่มาตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ,มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด, มีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์, หรือมีตกขาวผิดปกติ ส่วนอาการในมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ขาบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ไตวาย ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นทางเลือกในการป้องกันอย่างหนึ่ง ที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ส่วนผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ควรเริ่มตรวจเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีวิธีการตรวจ 3 วิธี ได้แก่
- แปปสเมียร์ (Pap Smear) คือการป้ายเซลล์จากปากมดลูกบนแผ่นกระจกสไลด์เพื่อตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ
- Liquid Based Cytology คือการป้ายเซลล์จากปากมดลูกใส่ในของเหลวเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งให้ผลตรวจที่ชัดเจนมากขึ้น
- HPV Testing คือการตรวจหาเชื้อไวรัสสายพันธุ์เสี่ยงสูงต่อมะเร็ง ซึ่งให้ผลตรวจที่ละเอียดมากขึ้น แต่นิยมใช้ควบคู่กับวิธี Liquid Based Cytology
“ มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งในไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ โดยการป้องกันที่ดีที่สุด คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะก่อนที่จะเป็นมะเร็ง โดยแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีละครั้งในการตรวจโดยวิธี Pap smear และ Liquid base cytology และแนะนำให้ตรวจทุก 3 ปีถ้าใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ HPV ส่วนการตรวจภายในเพื่อหาโรคทางนรีเวช ยังแนะนำให้ตรวจทุกปีเหมือนเดิม ” พญ.ชลิดากล่าว
นอกจากนี้ การเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกก็เป็นอีกทางเลือกในการป้องกันมะเร็ง โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 9 ปีขึ้นไป ถ้ามีอายุระหว่าง 9 – 15 ปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม ถ้าอายุมากกว่า 15 ปี จนถึง 45 ปี แพทย์จะแนะนำให้ฉีด 3 เข็ม ซึ่งการใช้ปริมาณการฉีดที่แตกต่างกันนั้น เนื่องจากวัคซีนจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กได้ดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นการที่พ่อแม่พาบุตรหลานมารับวัคซีนตั้งแต่เด็ก การฉีด 2 เข็มจะเพียงพอเท่ากับการฉีด 3 เข็มในเด็กโต หรือผู้ใหญ่ และวัคซีนจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดหากฉีดในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แต่ในคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังสามารถฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แนวทางการป้องกัน รวมถึงวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรให้แพทย์เป็นผู้ให้คำแนะนำวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลเวชธานี
โทร 02-734-0000 ต่อ 3200
ธันวาคม 19, 2023
TACE เคมีบำบัดทางหลอดเลือด ทางเลือกในการรักษามะเร็งตับตรงจุด
พฤษภาคม 18, 2023
เบอร์โทรติดต่อ
Hi! How can we help you?